Last updated: 28 ก.ย. 2561 | 986 จำนวนผู้เข้าชม |
“การทำเกษตรส่วนใหญ่จะปลูกแต่ไม่คำนึงถึงการจัดการน้ำ มาหาน้ำทีหลัง เป็นความเสี่ยงของการขาดทุน” คุณปลิว-พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ เกษตรกรรุ่นใหม่ เจ้าของรางวัล “เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดปี 2559” เปิดประเด็นความสำคัญของ “การจัดการระบบน้ำและปุ๋ยในแปลงเกษตร” ให้กับกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ที่มาร่วมเรียนรู้ “การจัดการระบบน้ำแปลงการเกษตรและการจัดการปุ๋ยในระบบน้ำของพืชอินทรีย์สำหรับเกษตรกร” เมื่อวันที่ 18-19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์เรียนรู้แก้วพะเนาว์ อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม จัดโดยฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเกษตรและชุมชน สท.
ทำไมต้องมีระบบน้ำในแปลงเกษตร
“ประหยัดเวลาและประหยัดน้ำ” เป็นคำตอบของการมีระบบน้ำในแปลงเกษตร ซึ่งคุณปลิวขยายความว่า การจัดการระบบน้ำช่วยร่นเวลาการทำเกษตร เกษตรกรจะได้ทำงานอื่นไปด้วย นอกจากนี้ยังตอบโจทย์เรื่องภัยแล้ง ซึ่งเกิดจากการจัดการน้ำไม่ถูกต้อง เกษตรกรไม่คำนวณปริมาณน้ำที่มีว่าเหมาะสมกับจำนวนพืชหรือไม่ การเพาะปลูกจึงไม่สอดคล้องกับระบบน้ำที่มีอยู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรขาดทุน
ในมุมมองของคุณปลิว สิ่งสำคัญในการจัดการระบบน้ำในแปลงคือ ปริมาณน้ำ แรงดันน้ำ และชนิดพืชที่ปลูก ซึ่งมีผลต่อการเลือกใช้ระบบน้ำให้ถูกประเภทและจะช่วยเกษตรกร “ประหยัดเวลา ประหยัดน้ำ และได้ผลผลิตที่เหมาะสม”
“การจัดการระบบน้ำเริ่มจากวิเคราะห์ปริมาณน้ำของเราต่อปี มีน้ำเท่าไหร่ที่จะสามารถเพาะปลูกพืชประเภทไหนได้บ้าง แรงดันน้ำต้องใช้เท่าไหร่ ต้องใช้กี่แรง เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งน้ำของระบบน้ำแต่ละประเภท ถ้ารู้ว่าแรงดันน้ำเท่านี้ เหมาะกับการปลูกพืชแบบนี้ ก็จะแก้ปัญหาได้ทุกจุด”
เลือกระบบน้ำแบบไหน
ระบบน้ำที่ใช้ในแปลงเกษตรมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น น้ำหยด น้ำพุ่ง สปริงเกิล มินิสปริงเกิล พ่นหมอก วัสดุอุปกรณ์ ราคาก็แตกต่างกัน จะเลือกใช้ระบบไหนนั้น เกษตรรุ่นใหม่ท่านนี้แนะนำระบบหลักๆ คือ มินิสปริงเกิล และน้ำหยด
“หากปลูกไม้ผล ระบบมินิสปริงเกิลจะให้น้ำได้ตรงจุด ซึ่งการกระจายของรัศมีหัวพ่นประมาณ 1 เมตร แต่ถ้าปลูกพืชผักซึ่งเป็นพืชรากสั้น ไม่ต้องการกระจายน้ำไปไกล ก็เหมาะที่จะใช้ระบบน้ำหยด”
สำหรับต้นทุนระบบน้ำนั้น คุณปลิวบอกว่า เกษตรกรหลายคนมองว่าการทำระบบน้ำในแปลงมีต้นทุนสูงเป็นเพราะยังไม่มีความเข้าใจหลักสำคัญของระบบน้ำและไม่รู้การประยุกต์ระบบน้ำแต่ละประเภทให้เหมาะกับพืช ต้นทุนการปลูกพืช ราคาผลผลิตของพืชชนิดนั้น เกษตรกรต้องรู้ก่อนว่าพืชชนิดนี้เหมาะกับระบบน้ำแบบไหน ต้นทุนเท่าไหร่ ตอบโจทย์ให้ต้นพืชได้หรือไม่ ซึ่งการลงทุนระบบน้ำและระบบให้ปุ๋ยพร้อมน้ำ 15,000 บาท/ไร่ ใช้ได้นาน 10 ปี ตกปีละ 1,500 บาท แต่ละปีปลูกได้ 3 ฤดูกาล ก็คุ้มทุนแล้ว
การมาเรียนรู้ “การจัดการระบบน้ำแปลงการเกษตรและการจัดการปุ๋ยในระบบน้ำของพืชอินทรีย์สำหรับเกษตรกร” ของเกษตรกร 14 คนจากบ้านหมองมัง บ้านนาเยีย จ.อุบลราชธานี บ้านเชียงเพ็ง จ.ยโสธร และบ้านนาหว้า จ.นครพนม นอกจากจะได้ข้อมูลความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเกษตรกรรุ่นใหม่แล้ว ทุกคนยังได้ออกแบบระบบน้ำในแปลงของตนเองเพื่อเพิ่มความเข้าใจ โดยวาดภาพแปลงเกษตรของตนเองในกระดาษ แล้วกำหนดประเภทของระบบน้ำที่จะใช้ในแปลง โดยคุณปลิวให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ทุกคนยังได้ลงมือปฏิบัติต่อระบบน้ำ 3 ประเภท ได้แก่ มินิสปริงเกิล น้ำหยดแบบใช้ท่อจิ๋ว และพ่นหมอก รู้จักวัสดุอุปกรณ์แต่ละชนิด การเลือกซื้อและการประยุกต์ใช้ รวมทั้งเรียนรู้ระบบและวัสดุอุปกรณ์การส่งปุ๋ยพร้อมน้ำด้วย
นายวงษ์มะรินทร์ ดวงคำ เกษตรกรบ้านเชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร บอกว่า ที่แปลงผักใช้สายยางฉีดรดน้ำ ซึ่งผักซ้ำ ไม่ได้คุณภาพ และก็ยังเปลืองน้ำ ระบบน้ำเป็นเรื่องละเอียดโดยเฉพาะกับการ ปลูกผัก จึงอยากเรียนรู้ โชคดีที่ได้มาครั้งนี้ ได้ความรู้มาก เข้าใจง่าย และจะกลับไปทำระบบน้ำในแปลงผักได้
ขณะที่นางคำเลียง โคตรมิตร เกษตรกรบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บอกว่า อบรมครั้งนี้ได้ความรู้มาก ได้รู้เรื่องระบบน้ำว่าพืชแต่ละชนิดเหมาะกับระบบน้ำแบบไหน กลับไปจะทำทันที ก็จะทำระบบน้ำหยดกับไม้ผล และระบบพ่นหมอกในโรงเรือน ปัจจุบันที่แปลงของตนใช้สปริงเกิลและสายยางฉีดรดน้ำ ต้นไหนแข็งแรงก็งาม ต้นไหนอ่อนแอก็ตาย สายยางใช้น้ำเยอะและใช้เวลามาก ถ้ามีระบบน้ำที่ถูกต้องก็เปิดระบบ แล้วไปทำอย่างอื่นได้ ประหยัดเวลาและประหยัดน้ำ แล้วยังลดต้นทุนค่าใช้จ่ายสายยางด้วย ที่ผ่านมาต้องเปลี่ยนสายยางทุก 3 เดือน เพราะลากไปทั่วแปลง แล้วมันแตก แต่ระบบน้ำนี้ลงทุนครั้งเดียวใช้ได้นาน คุ้มทั้งเวลาและค่าวัสดุ
ด้านนายทวี สร้อยฟ้า เกษตรกรบ้านนาเยีย อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี ซึ่งวางระบบน้ำที่แปลงเกษตรของตนอยู่แล้ว บอกว่า มาครั้งนี้ได้ความรู้เพิ่มมาก ทำให้รู้ว่าตนใช้ระบบน้ำไม่เหมาะกับพืชที่ปลูก ก็จะเอาความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ และยังได้ความรู้เรื่องการเลือกซื้อวัสดุด้วย ต้องซื้อให้เป็น ซื้อให้เหมาะสมกับพืชของเรา จะลดค่าใช้จ่ายได้ การทำเกษตรกว่าจะได้เงินมาไม่ง่าย เพราะฉะนั้นถ้าลงทุนไปแล้วเปล่าประโยชน์ ก็ขาดทุน
แหล่งที่มา : สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)
Agricultural Technology and Innovation Management Institute (AGRITEC)
https://www.nstda.or.th/agritec/78-featured-article/297-learning-water-system